โครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาความสำเร็จแห่งอาชีพ
สำหรับนักศึกษาและนักศึกษาเก่าคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หลักการและเหตุผล |
วิกฤติคุณภาพบัณฑิตซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาชาติอาจกล่าวโดยภาพรวมได้ว่า ผลผลิตจากสถาบันการศึกษาไม่เป็นไปตามความคาดหวังขององค์กร มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งหลักที่ผลิตทรัพยากรบุคคลเพื่อเป็นกำลังของชาติมักถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายประเด็น อาทิเช่น ความรู้และทักษะของบัณฑิตไม่ตรงกับความต้องการขององค์กรนายจ้าง ทัศนคติต่ออาชีพและวิชาชีพของบัณฑิตแตกต่างจากความคาดหมายของผู้บริหาร บัณฑิตขาดความผูกพัน ทุ่มเทและภักดีต่อองค์กร ความปรารถนาและความคาดหวังในการดำรงชีพตลอดจนวิถีชีวิตและโลกทัศน์ของบัณฑิตยุคใหม่ไม่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาบุคลากรหรือยุทธศาสตร์ขององค์กรนายจ้าง เป็นต้น
วิกฤติการณ์ดังกล่าวเป็นปัญหาที่ซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ไขได้ด้วยการพัฒนาหลักสูตรให้ดีขึ้น ยกมาตรฐานหรือการปรับปรุงเทคนิคการเรียนการสอนให้มีประสิทธิผลมากขึ้น แต่วิกฤตินี้ต้องแก้ไขด้วยกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม (Socialization) กล่าวคือ โครงสร้างของระบบการศึกษาและวัฒนธรรมทางสังคมไทยทำให้นักศึกษาเข้าสู่การศึกษาขั้นอุดมศึกษาตามโอกาส หรือตามคะแนนสอบที่สะสมได้ มากกว่าความมีใจรัก (Passion) ที่จะประกอบวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งจากแรงบันดาลใจ (Inspiration) ที่ได้รับการไตร่ตรองอย่างถ่องแท้หรือจากการได้ค้นพบตัวตนมาก่อนแล้วว่าต้องการเอาดีทางใดทางหนึ่งนั้น ดังสังเกตได้ว่า ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษามักไม่สามารถตอบได้ว่า เป้าหมายในชีวิตของตนคืออะไร ชีวิตนี้เกิดมาเพื่อเป็นอะไร เพื่อจะสร้างประโยชน์อะไรให้กับตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ เมื่อขาดเป้าหมายจึงไม่ได้ตั้งคำถามต่อไปด้วยว่า แล้วตนเองจะต้องเลือกเรียนสาขาวิชาใด ดำเนินชีวิตแบบไหน ต้องเป็นคนอย่างไร เพื่อจะทำให้ไปสู่จุดมุ่งหมายในชีวิตที่ต้องการ การศึกษาวิชาในหลักสูตรจึงไม่อาจเป็นหลักประกันความสำเร็จได้หากผู้เรียนยังไม่ทราบว่าเรียนไปเพื่ออะไร สำหรับคนจำนวนมากความสำเร็จจึงขึ้นอยู่กับโชคชะตาและความบังเอิญมากกว่าการเป็นผลลัพธ์จากความปรารถนาอันแรงกล้า
แม้จะมีเยาวชนบางกลุ่มที่มีความมุ่งมั่นชัดเจนว่าต้องการประกอบวิชาชีพใด แต่ในจำนวนนั้นก็มักขาดความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่จะนำพาให้พวกเขาประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างมีความสุขสมบูรณ์ได้ เนื่องจากหลักสูตรมุ่งเน้นเพียงจะสอนสาระความรู้ทางวิชาการที่จะทำให้บัณฑิตได้งานทำเพื่อเลี้ยงชีพ แต่ให้ความสำคัญน้อยต่อการอบรมบ่มเพาะทัศนคติที่จะทำให้บัณฑิตทำงานได้ใช้ชีวิตเป็น อีกทั้ง มีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้ค้นพบตนเองในภายหลังว่าเลือกทางเดินชีวิตผิดพลาด บางรายอยากเปลี่ยนเส้นทางชีวิตแต่ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร หรือบ้างก็พ่ายแพ้ต่อความผันแปรของโชคชะตากลายเป็นบุคคลที่เปี่ยมความสามารถแต่ล้มเหลวในชีวิต
ด้วยเหตุนานาประการดังกล่าว คณะบริหารธุรกิจจึงเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดตั้งศูนย์พัฒนาความสำเร็จแห่งอาชีพ เพื่อเป็นแหล่งเจียระไนให้ผลผลิตของคณะฯ ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตเป็นผู้ที่มีทั้งความรู้ในอาชีพและความแตกฉานในความเป็นวิชาชีพ ด้วยการเข้าถึงตนเอง มีแรงบันดาลใจและมุ่งมั่นทุ่มเทในสิ่งที่ตนมีใจรัก มีทัศนคติและจิตสำนึกเกื้อหนุนต่อความเติบโตก้าวหน้า เป็นผู้ใส่ใจฝึกฝนตนเอง ไม่ฝากความสำเร็จในชีวิตไว้กับโอกาสและโชคชะตา
ปรัชญาและพันธ์กิจ |
ศูนย์พัฒนาความสำเร็จแห่งอาชีพนี้กำเนิดขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางของความสัมพันธ์ตลอดชีวิตระหว่างนักศึกษาและศิษย์เก่ากับคณะบริหารธุรกิจ โดยมุ่งหวังให้ศูนย์นี้เป็นแหล่งปลูกฝัง พัฒนา และส่งเสริมความรู้ ทักษะ ทัศนคติตลอดจนจิตสำนึกที่จะเป็นหลักประกันให้นักศึกษาและศิษย์เก่าเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างมีความสุขรอบด้าน
ศูนย์พัฒนาความสำเร็จแห่งอาชีพเชื่อว่านักศึกษาและศิษย์เก่าไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับบริการ และองค์กรภายนอกไม่ใช่เป็นเพียงองค์กรนายจ้าง หากแต่เชื่อมั่นว่าผลสัมฤทธิ์ของศูนย์ฯ ขึ้นอยู่กับทุกกิจกรรมของศูนย์ฯ ดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและความสัมพันธ์อันทรงประสิทธิผลระหว่าง ศิษย์เก่า นักศึกษาปัจจุบัน และเครือข่ายองค์กรภายนอก
ประเภทของกิจกรรมของ CSC |
ในการวางแผนปฏิทินกิจกรรมของ CSC แต่ละกิจกรรมจะถูกระบุประเภทหลายมิติ ได้แก่
1 แบ่งตามกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
- กิจกรรมสำหรับนักศึกษาปัจจุบันตามชั้นปี และระดับการศึกษา
- กิจกรรมสำหรับพัฒนาศิษย์เก่าตามวัฏจักรชีวิตและความก้าวหน้าของอาชีพ
2 แบ่งตามเป้าหมายของกิจกรรม ได้แก่
- กิจกรรมสำหรับการค้นพบเป้าหมายชีวิตและเข้าใจตนเอง
- กิจกรรมสำหรับการสร้างแรงบันดาลใจและความใฝ่ฝัน
- กิจกรรมสำหรับปลูกฝังความมุ่งมั่นต่อความเป็นเลิศและความสำเร็จ
- กิจกรรมเพื่อการหางาน
- กิจกรรมพัฒนาทักษะ ทัศนคติและจิตสำนึกเพื่อความก้าวหน้าในการทำงาน
- กิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนเส้นทางอาชีพ
- กิจกรรมเพื่อการพัฒนาชัยชนะแห่งตน
- กิจกรรมเพื่อการรับมือและเอาชนะต่อความผันแปรของชีวิต
3 แบ่งตามการบังคับการเข้าร่วม
- กิจกรรมที่บังคับนักศึกษาเข้าร่วมก่อนสำเร็จการศึกษา
- กิจกรรมที่ต้องผ่านก่อน สำหรับชุดกิจกรรมบางประเภทที่ผู้เข้าร่วมต้องมีการผ่านกิจกรรมต่างๆ เป็นขั้นๆ
- กิจกรรมอิสระที่นักศึกษาและศิษย์เก่าสามารถเลือกเข้าร่วมได้
4 แบ่งตามธรรมชาติของกิจกรรม
- กิจกรรมเชิงปฏิบัติการ
- การบรรยายพิเศษ
- สัมมนา
- เสวนา
- การนำเสนอของกิจการ
- การเรียนรู้ด้วยตนเอง
- การทดลองปฏิบัติ
- ฯลฯ
5 แบ่งตามเจ้าภาพผู้จัด
เป็นการระบุตามผู้สนับสนุน ผู้รับผิดชอบ ผู้ประสานงานและผู้ริเริ่ม ของกิจกรรมนั้นๆ อันได้แก่ CSC, หน่วยงานภายในคณะ, นักศึกษากลุ่มใด, ศิษย์เก่า และเครือข่ายภายนอก
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/csc.accba.cmu