ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย : หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเงิน
ภาษาอังกฤษ : Master of Science Program in Finance
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
ภาษาไทย : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (การเงิน): วท.ม. (การเงิน)
ภาษาอังกฤษ : Master of Science (Finance): M.S. (Finance)
คำอธิบายโครงการ
เป็นหลักสูตรที่เปิดสอนเพื่อให้เป็นหลักสูตรที่นำไปสู่การตอบสนองสถานการณ์การพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในระดับชาติ และภูมิภาคที่เชื่อมโยง กันโดยเฉพาะการพัฒนาไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนเป็นการเตรียมความพร้อมของคนและระบบโดยจัดการศึกษาและจัดองค์ความรู้ทางด้านการเงิน ผ่านกระบวนการวิจัยและหรือการจัดการเรียนการ สอนในห้องเรียน และห้องปฏิบัติการ FIC เพื่อเพิ่มความสามารถในการเชื่อมโยงบูรณาการด้วยการเรียนรู้ด้วยตนเองมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันระหว่างนักศึกษา และผู้ประกอบวิชาชีพทางการเงิน เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความสามารถในการเชื่อมโยงและบูรณาการศาสตร์ทางการเงินกับศาสตร์อื่นได้อย่างต่อเนื่องและเหมาะสมกับบริบททางสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีคุณธรรมและ จรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพ
ปรัชญา
การเงิน โดยเฉพาะ การเงินในปัจจุบัน (Modern Finance) ถือได้ว่าเป็นศาสตร์ที่สำคัญ ในการบริหารการเงินระดับบุคคล และระดับองค์กร เพื่อนำไปสู่ความเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจ และความมั่งคั่งสูงสุด ทั้งนี้ ไม่ละเลยในเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง โดยการเงินในยุคปัจจุบันนี้ได้ผนวกองค์ความรู้ด้านการวิเคราะห์ขั้นสูง ได้แก่ เศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสถิติ ประกอบกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ศาสตร์นี้พัฒนาไปอย่างมาก
องค์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นและการประยุกต์ใช้ช่วยทำให้การตัดสินใจทางการเงินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะนำมาซึ่งความมั่งคั่งในระดับจุลภาค ทั้งในระดับบุคคลและองค์กร และการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจในเวทีโลก ซึ่งท้ายที่สุดจะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และความมั่งคั่งสูงสุดในระดับมหภาค หรือระดับประเทศในอนาคต
วัตถุประสงค์
เพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่
- มีวิสัยทัศน์ ความคิดริเริ่ม สามารถวิเคราะห์แก้ปัญหาและการวางแผน กำหนดนโยบายต่างๆด้านการเงินในองค์กรได้อย่างเหมาะสม
- มีความรู้ด้านทฤษฎี แนวคิดการเงินสมัยใหม่ที่เกี่ยวกับการเงินธุรกิจ การจัดการความมั่งคั่งส่วนบุคคล การลงทุน และการเงินระหว่างประเทศ สามารถประยุกต์ใช้ ข้อมูล ข่าวสาร ที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินของโลก เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อธุรกิจ ตลาดทุน และตลาดเงินเพื่อการบริหารการเงินทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
- มีความรู้ตามการรับรองมาตรฐานของวิชาชีพทางการเงิน เช่น CISA (Certified Investment and Securities Analyst), CFA (Certified Financial Analyst), CFP (Certified Financial Planner)
- สามารถประยุกต์ใช้แนวคิดทางการเงินในการทำวิจัย สร้างองค์ความรู้ทางการเงิน
- สามารถประยุกต์ใช้แนวคิดทางการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
- สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น มีคุณธรรมและจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
- ผู้บริหารในสถาบันการเงิน
- ผู้บริหารการเงินในองค์กรธุรกิจ
- นักวิเคราะห์ทางการเงิน
- นักวางแผนทางการเงิน
- ที่ปรึกษาทางด้านการเงินส่วนบุคคล
- ที่ปรึกษาทางด้านการลงทุน
- นักวิชาการทางการเงิน
- อาจารย์ในมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน
- งานด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
การจัดการเรียนการสอน
บริหารธุรกิจมหาบัณฑิตเป็นหลักสูตรระดับปริญญาโท หลักสูตร 2 ปี
แบ่งออกเป็น 4 ภาคการศึกษา และมีเวลาการศึกษาไม่เกิน 4 ปีการศึกษา
หลักสูตรแผน ก. (วิทยานิพนธ์) :
จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 42 หน่วยกิต จากวิทยานิพนธ์ 12 หน่วยกิต และมีวิชาเรียนไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต
หลักสูตรแผน ข. (การค้นคว้าแบบอิสระ) :
จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 42 หน่วยกิต จากการค้นคว้าแบบอิสระ 3 หน่วยกิต และมีวิชาเรียนไม่น้อยกว่า 39 หน่วยกิต ประกอบด้วย กระบวนวิชาบังคับ 27 หน่วยกิต และกระบวนวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต